ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง
( ยุทธศาสตร์ ACMECS.)
ความเป็นมาของยุทธศาสตร์ ACMECS.
ตามปฏิญญาพุกาม (Bagan Declaration) อันเป็นผลมาจากการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง กัมพูชา ลาว พม่า และ ไทย (Economics Cooperation Strategy between Cambodia , Laos PDR., Myanmar and Thai หรือ ยุทธศาสตร์ ECS. ) ซึ่งจัดประชุมเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 ณ เมืองพุกาม ประเทศสหภาพพม่า ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2547 ประเทศเวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิกเพิ่ม จึงเปลี่ยนชื่อเป็นยุทธศาสตร์ ACMECS. (Ayeyawady – Chophraya – Mekong Economics Cooperation Strategy)
วัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ ACMECS.
- เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก
- ขจัดปัญหาความยากจน ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก
- มุ่งเน้นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก
ความร่วมมือในระหว่างประเทศสมาชิก จำนวน 5 สาขา
1) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน
2) ความร่วมมือด้านเกษตรและอุตสาหกรรม
3) การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม
4) การท่องเที่ยว
5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
กรมศุลกากรของประเทศสมาชิกถูกมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการใน สาขาที่ 1 คือการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งต้องจัดทำแผนการ อำนวยความสะดวกการค้าระหว่างพรมแดนของประเทศสมาชิก
การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ ACMECS.
1. กระทรวงการคลังออกประกาศเรื่อง การให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน กัมพูชา – สหภาพพม่า – สปป.ลาว (ASEAN Integration System of Preferences –AISP.) ตามที่กรมศุลกากรเสนอ และในส่วนของ สปป.ลาว นอกจากจะได้รับสิทธิ AISP. แล้ว ยังได้รับสิทธิตามประกาศกระทรวง การคลัง ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 เรื่อง การยกเว้นอากร ลด และเพิ่มอัตราอากรศุลกากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจาก สปป.ลาว อีกทางหนึ่ง พร้อมกันนั้นกรมศุลกากรได้กำหนดระเบียบปฏิบัติพิธีการศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากรดังกล่าว
2. การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service : OSS.)
บริเวณด่านชายแดน
เพื่อเป็นการปฏิบัติตามปฏิญญาพุกาม คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2547 ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมหารือแนวทางการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service : OSS.) บริเวณด่านศุลกากรชายแดนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการนำเข้า–ส่งออกโดยกำหนดให้กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อแก้ไขปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานอยู่ห่างไกลกัน ทำให้ขาดความคล่องตัวและเสียเปรียบเมื่อเข้าแข่งขันในตลาดการค้าโลก
3. ปีงบประมาณ 2548 - 2549 กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ที่ด่านศุลกากรนำร่องจำนวน 10 ด่าน คือ ด่านฯ อรัญประเทศ , ด่านฯ มุกดาหาร , ด่านฯ แม่สาย , ด่านฯ แม่สอด , ด่านฯ สะเดา , ด่านฯ เชียงแสน , ด่านฯ มาบตาพุด, ด่านฯ หนองคาย , ด่านฯ เชียงของ และด่านฯ ปาดังเบซาร์
4. ปีงบประมาณปัจจุบัน(พ.ศ.2558) มีการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ตามด่านชายแดนทุกแห่งแล้ว รวม 47 ด่าน

แผนการจัดตั้งศูนย์ OSS. แบ่งออกเป็น 3 ระยะ (ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2)
ระยะที่หนึ่ง – การจัดตั้ง ศูนย์ OSS.นำร่อง
ระยะที่สอง – การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อข้อมูลและการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน
ระยะที่สาม – การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อข้อมูลและการสื่อสารระหว่างหน่วยงานกับ
ผู้ประกอบการแบบเบ็ดเสร็จ
การดำเนินงานของ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ด่านชายแดน จ.มุกดาหาร
ศูนย์ ONE STOP SERVICE จ.มุกดาหาร เริ่มเปิดดำเนินการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 สามารถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยช่วยให้การตรวจปล่อยสินค้าซึ่งนำเข้าจาก สปป.ลาว หรือ ส่งออกไป สปป.ลาว เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนและลดค่าใช้จ่ายแก่ผู้นำเข้า - ผู้ส่งออกได้จริง มีการประกาศแจ้งกำหนดเวลาแล้วเสร็จของงานที่ให้บริการอย่างชัดเจน ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 อันทำให้ศูนย์ OSS. จ.มุกดาหาร เป็นศูนย์บริการฯ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดนอย่างแท้จริง ในรูปแบบของการรวมศูนย์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการนำเข้าและส่งออกไว้ในที่เดียวกัน (Integrated Office Service) ซึ่งมีหน่วยงานร่วมดำเนินการศูนย์ OSS. มุกดาหาร จำนวน 7 หน่วยงาน คือ
1. ด่านศุลกากรมุกดาหาร
2. ด่านอาหารและยา (สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร)
3. ด่านตรวจสัตว์น้ำจังหวัดมุกดาหาร
4. ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศฯ
5. ด่านตรวจพืชมุกดาหาร
6.พาณิชย์จังหวัดมุกดาหาร
7.สรรพสามิตพื้นทีมุกดาหาร

ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ACMECS.
1. การดำเนินงานศูนย์ ONE STOP SERVICE ของไทย ยังขาดงบประมาณที่จะใช้ในการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อข้อมูลและการสื่อสารระหว่างหน่วยงานกับผู้ประกอบการแบบเบ็ดเสร็จทำให้หน่วยงานร่วมดำเนินการศูนย์ OSS. ยังไม่อาจให้บริการด้าน e-licensing ในปัจจุบัน
2. ทางด้าน สปป.ลาว ยังขาดความชัดเจนของการจัดตั้งศูนย์ ONE STOP SERVICE ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามปฏิญญาพุกามในสาขาที่ 1 ( การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและ การลงทุน )